การประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 1/2566

นายธีระชัย เชมนะสิริ (นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) เป็นประธานในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 ณ JW Marriott Hotel Bangkok ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
สรุปมติที่สำคัญของการประชุมมีดังนี้
1. อนุมัติในหลักการมอบอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒินอกบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ หรือความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสาขาวิชาที่เสนอขอซึ่งไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ แล้วเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ ยกเว้นตำแหน่งศาสตราจารย์ ให้เสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการนำเสนอโดยที่ประชุมขอให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการดำเนินการ ดังนี้
1.1 พิจารณาลักษณะของการมอบอำนาจว่าควรมอบอำนาจอย่างไร โดยให้ศึกษาแนวทางตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความเรื่องนี้ไว้แล้ว เนื่องจากอาจจะมีปัญหาในการใช้กฎหมายเพราะปัจจุบันค่อนข้างเข้มงวดในการใช้อำนาจขององค์กรที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจเฉพาะ ซึ่งไม่สามารถมอบอำนาจให้องค์กรอื่นใดไปดำเนินการแทนได้ เว้นแต่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในประเด็นนี้ควรแก้ไขข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการทำหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวได้
1.2 เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้ามาสู่บัญชีนี้ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของ ก.พ.อ. และอาจไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ ขอให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวแล้วเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
รับทราบ และขอมอบหมายให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการศึกษาการมอบอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) ตามที่ที่ประชุมได้พิจารณาไว้ข้างต้น แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาต่อไป
2. ขออนุมัติเปลี่ยนชื่อหน่วยงานและปรับปรุง โครงสร้างการแบ่งส่วนงาน
2.1 ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1) เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน หรือการเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารงานบุคคลแล้ว ควรผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินด้วยเนื่องจากจะมีเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง
2) ขอให้ฝ่ายแผนงานและยุทธศาสตร์ศึกษาและพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการเสนอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงาน และกำหนดภาระงานให้มีความครอบคลุมอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้มีอัตรากำลังคนมากเกินไป
3) งานติดตามและประเมินผล กับงานประกันคุณภาพ ของส่วน แผนงานฯ น่าจะรวมเป็นงานเดียวกันได้ เนื่องจากการประกันคุณภาพ และการติดตามประเมินผลเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการประกันคุณภาพ ประกอบด้วยงาน Quality Control, Quality Audit และ Quality Assessment ในตัวอยู่แล้ว และการติดตามในส่วนของการศึกษาจะครอบคลุมถึงการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยโดยรวมซึ่งรวมถึง หน่วยงานอื่น ๆ ด้วยไม่ใช่เฉพาะสำนักวิชาหรือวิทยาลัย หากต้องการจําแนกงานออกจากกัน ในส่วนของงานติดตามประเมินผลควร ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้สื่อถึงภาระงานที่ชัดเจน
4) งานควบคุมงานก่อสร้างของส่วนอาคารสถานที่ หากพิจารณาจากงานอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิมปรากฏว่าไม่มีงานก่อสร้างแต่อย่างใด ดังนั้น ควรเขียนคำบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ให้ชัดเจน เนื่องจากจะมีความเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าในสายงานของบุคลากรในอนาคต
5) ในระยะต่อไปเมื่องานก่อสร้างอาคารสถานที่ลดน้อยลงแล้ว ควรมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นงานอื่นได้ตามความเหมาะสม
2.2 ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
(1) อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อศูนย์นวัตกรรมการเรียนและการสอน (Center for Innovative Learning and Teaching) เป็นศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน (Center for Learning and Teaching Excellence (CLTE))
(2) อนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน ดังนี้
(1.) ศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน
(1) ฝ่ายบริหารทั่วไปและธุรการ
(2) ฝ่ายมาตรฐานและพัฒนาหลักสูตร
(3) ฝ่ายพัฒนานวตักรรมการเรียนและการสอน
(2.) สำนักวิชาศิลปะศาสตร์
(1) สำนักงานคณบดี
(2) สถานวิจัย
(3) สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
(4) สาขาวิชาภาษาจีน
(5) สาขาวิชาภาษาไทย
(6) สาขาวิชาครุศาสตร์
(7) ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาวิชาชีพครูสู่ความเป็นเลิศ
(3.) ศูนย์บริการวิชาการ
(1) ฝ่ายบริหารทั่วไปและธุรการ
(2) ฝ่ายบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
(3) ฝ่ายวิชาการรับใช้สังคมและพัฒนาเชิงพื้นที่
(4) ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นเลิศสู่สากล
(4.) ส่วนแผนงานและยุทธศาสตร์
(1) งานบริหารทั่วไปและธุรการ
(2) งานบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน
(3) งานยุทธศาสตร์และแผนงบประมาณ
(4) งานวิจัยสถาบัน
(5) งานติดตามและประเมินผลงานบริหาร
(6) งานประกันคุณภาพการศึกษา
(5.) ส่วนอาคารสถานที่
(1) งานบริหารทั่วไปและธุรการ
(2) งานออกแบบและวิศวกรรม
(3) งานโรงผลิตน้ำประปา
(4) งานซ่อมบำรุงระบบประปาและสุขาภิบาล
(5) งานซ่อมบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า
(6) งานซ่อมบำรุงรักษาอาคารสถานที่และสาธารณูปการ
(7) งานควบคุมงานก่อสร้าง
โดยที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ข้อกำหนดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักวิชา สถาบัน ศูนย์หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. และขอให้ปรับแก้ไข (ร่าง) ประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง การแบ่งส่วนงานของสำนักงานอธิการบดี สำนักวิชา สถาบัน ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ตามที่ที่ประชุมได้พิจารณาไว้ข้างต้น และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
3. เห็นชอบให้ขยายเวลาในการนำรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยออกไปเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่ คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบฯ นำเสนอ ทั้งนี้ ในการเสนอรายงาน ผลการติดตาม ตรวจสอบฯ ในปีงบประมาณถัดไป ขอให้ปฏิบัติตามกำหนดระยะเวลาของระเบียบฯ ว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบฯ พ.ศ. 2563 หากไม่สามารถเสนอรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบฯ ได้ตามกรอบระยะเวลาดังกล่าวได้นั้น ให้เสนอรายงานผลการติดตาม ตรวจ สอบฯ โดยให้ระบุว่า “เป็นรายงานฉบับที่ยังไม่ได้รับการรับรอง” แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัยภายในระยะเวลาตามที่กำหนดด้วย
4. อนุมัติให้แต่งตั้งคณะทำงาน และคณะอนุกรรมการ จำนวน 5 คณะ ของคณะกรรมการจริยธรรมและพิทักษ์ธรรมาภิบาลฯ ตามที่คณะกรรมการจริยธรรมฯ นำเสนอ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกสภามหาวิทยาลัยลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน และคณะอนุกรรมการ เป็นต้นไป โดยที่ประชุมได้ให้แนวทางในการดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
4.1 ขอให้แก้ไขหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะทำงานศึกษา วิเคราะห์การดำเนินการด้านจริยธรรมของบุคลากรและผู้เรียนของมหาวิทยาลัย ดังนี้
1) ศึกษาประเด็นปัญหาจริยธรรมของมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาและที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
2) ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม ป้องกันปัญหาจริยธรรมของมหาวิทยาลัย
4.2 มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างจัดทำระบบการพัฒนาองค์กร (visual drawing) ที่มีมาตรฐาน โดยคณะกรรมการจริยธรรมฯ อาจจะเชื่อมการดําเนินงานไปยงัคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบฯ ซึ่งจะทำให้มีระบบที่ดียิ่งขึ้น
5. อนุมัติให้ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรแบบไม่กระทบโครงสร้างหลักสูตร จำนวน 4 หลักสูตร ตามที่สภาวิชาการนำเสนอ
6. เห็นชอบผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร ระดับสำนักวิชา และระดับมหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2564 โดยมีข้อเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยพิจารณาดำเนินการดังนี้
6.1 เนื่องจากเป็นผลการประเมินฯ ปีการศึกษา 2564 และมีข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินในหลายประเด็นซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไป แต่ผลการประเมินออกมาค่อนข้างล่าช้า ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรพิจารณากำหนดช่วงเวลาในการประเมินให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
6.2 เพื่อความสมบูรณ์มากขึ้น ควรแสดงข้อมูลผลการประเมิน คุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร ระดับสำนักวิชา และระดับมหาวิทยาลัยย้อนหลัง 3 ปี
6.3 ในปีการศึกษา 2565 ขอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการประเมิน คุณภาพการศึกษาตามระบบ AUN ซึ่งมีระดับคะแนน 7 ระดับ โดย ขอให้มหาวิทยาลัยนำแนวทางและเกณฑ์การประเมินฯ เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาต่อไป
6.4 ขอให้มหาวิทยาลัยรายงานผลการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการประเมินได้เสนอแนะไว้ในปีการศึกษา 2564 แล้ว นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
สรุปผล/มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 1/2566 ( 14 มกราคม 2566)
ประมวลภาพ
ภาพโดยนางสาวสุเมตตา อุราโรจน์ ส่วนอำนวยการและสารบรรณ