การประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 6/2566

นายธีระชัย เชมนะสิริ (นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) เป็นประธานในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมช่อประดู่ ชั้น 4 อาคาร A ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting
สรุปมติที่สำคัญของการประชุมมีดังนี้
1. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อทำหน้าที่ตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
1. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่กระทรวงการอุดมศึกษา เป็นประธานกรรมการ
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้ง
(นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์)
2. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน เป็นกรรมการ
(ศาสตราจารย์ ดร.สุนทร มณีสวัสดิ์)
3. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคใต้ 1 คน เป็นกรรมการ
(ศาสตราจารย์ ดร.อุดม ทุมโฆสิต)
4. ผู้แทนพนักงานสายวิชาการที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร 1 คน เป็นกรรมการ
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ดิษฐกิจ)
5. ผู้แทนพนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป เป็นกรรมการ
ที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร 1 คน
(นางกาญจุรีย์ ว่องไวรัตนกุล)
ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่ง เป็นเลขานุการ
และให้หัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
2. อนุมัติประกาศนียบัตรและปริญญาให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 (ครั้งที่ 12) จำนวนทั้งสิ้น 33 คน
3. ขอให้มหาวิทยาลัยปรับแก้ไข (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
3. ขอให้มหาวิทยาลัยปรับแก้ไข (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ขอให้พิจารณาทบทวนลักษณะการกระทำผิดวินัยร้ายแรงซึ่งมี 24 ฐาน ในข้อ 10 ของระเบียบฯ ว่าด้วยวินัยและการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2561 โดยแบ่งลักษณะการกระทำผิดวินัยร้ายแรง และการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ออกจากกันให้ชัดเจน เนื่องจากการกระทำความผิดวินัยในบางฐานไม่ถึงขั้นผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่จะต้องถูกลงโทษปลดออก ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ดำเนินการสอบสวนทางวินัยและการสั่งลงโทษที่ชัดเจนและตรงตามลักษณะการกระทำผิดวินัย
3.2 ขอให้กำหนดโทษความผิดวินัยไว้ 2 ลักษณะการกระทำ คือ
1) โทษความผิดวินัยร้ายแรง เดิมมีสถานเดียว คือ ปลดออก แก้ไขเป็น 2 สถาน คือ ให้ออก และปลดออก โดยโทษให้ออก พนักงานจะได้รับเงินสะสมกับผลประโยชน์ของเงินสะสมในส่วนของพนักงานเต็มจำนวน และเงินสมทบกับผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่โทษปลดออก พนักงานจะได้รับเฉพาะเงินสะสมกับผลประโยชน์ของเงินสะสมในส่วนของพนักงานเต็มจำนวนเท่านั้น โดยจะไม่ได้รับเงินสมทบกับผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2) โทษความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เดิมมี 2 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ และงดขึ้นเงินเดือนประจำปีที่ถูกลงโทษทางวินัย ขอให้เพิ่มอีก 1 สถาน คือ ลดเงินเดือน
3.3 ในส่วนของเหตุอันควรลดหย่อนโทษ ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
– กรณี (1) รับสารภาพ ขอให้พิจารณาสาเหตุของการรับสารภาพด้วย หากรับสารภาพด้วยจำนนต่อหลักฐาน จะไม่เข้าข่ายได้รับการลดหย่อนโทษ
– กรณี (5) ระดับตำแหน่ง ความรับผิดชอบ ไม่ควรใส่ข้อนี้ไว้เนื่องจากทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบและข้อบังคับฉบับเดียวกัน หากจะใส่ข้อนี้ไว้จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าพนักงานระดับตำแหน่งใดและความรับผิดชอบใดที่จะได้รับการลดหย่อนโทษ
– กรณี (6) ตกอยู่ในความทุกข์แสนสาหัส และ (7) กรณีอื่น ๆ กรณีนี้กำหนดไว้กว้างเกินไปทำให้ยากต่อการพิจารณา
เมื่อมหาวิทยาลัยได้ปรับแก้ไข (ร่าง) ระเบียบฯ แล้ว ขอให้เสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
4. อนุมัติ (ร่าง) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. โดยขอให้แก้ไขข้อความในข้อ 47 เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ดังนี้
– (4) จากเดิม “ถูกสั่งลงโทษปลดออก ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย” เป็น “ถูกสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบของมหาวิทยาลัย”
– (11) จากเดิม “เป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย” เป็น “เป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีสถานภาพประจำหรือชั่วคราวของหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย”
5. อนุมัติ (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสำหรับพนักงาน สายวิชาการซึ่งเป็นพนักงานประจำ พ.ศ. …. โดยขอให้แก้ไขข้อความ ดังนี้
– หน้า 2 ข้อ 10 จากเดิม “พนักงานสายวิชาการจะต้องมีผลงานทางวิชาการ ดังต่อไปนี้” เป็น “พนักงานสายวิชาการจะต้องมีผลงานทางวิชาการอย่างน้อย 1 เรื่อง ดังต่อไปนี้”
– หน้า 3 ข้อ 11 วรรคแรก จากเดิม “ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็น อธิการบดีอาจอนุมัติให้พนักงานสายวิชาการ…” เป็น “ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็น อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลอาจอนุมัติให้พนักงานสายวิชาการ…”
– หน้า 3 ข้อ 11 วรรคสอง ข้อความเดิม “การปรับปรุงแก้ไขความในวรรคหนึ่งให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย” ขอให้กำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นใด
6. อนุมัติ (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน และปฏิบัติการวิจัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ….
7. อนุมัติ (ร่าง) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการศึกษาเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. …. ตามที่สภาวิชาการนำเสนอ โดยขอให้แก้ไขข้อความ ดังนี้
7.1 หน้าแรก ข้อ 5 ขอให้เพิ่มข้อความ “หรือสถาบันผลิตแพทย์ทางคลินิคที่แพทยสภารับรอง” ต่อท้ายข้อความเดิม
7.2 หน้า 3 ข้อ 7.3.2 ในส่วนระดับคะแนน I, X, F, U ขอให้ใส่คำเต็มที่เป็นภาษาอังกฤษและคำอธิบายที่เป็นภาษาไทย ของ I, X, F และ U
7.3 หน้า 3 ข้อ 7.3.6 ขอให้ปรับแก้ไขข้อความโดยไม่จำกัดเฉพาะให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่มีเจตนคติที่ดีต่อการเป็นแพทย์ ใช้เวลาในการเรียนชั้นคลินิกนานกว่าปกติเท่านั้น แต่จะรวมถึงนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ขึ้นไป ด้วยเนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการศึกษาไว้แล้ว
8. อนุมัติให้ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรแบบไม่กระทบโครงสร้างหลักสูตร จำนวน 8 หลักสูตร ตามที่สภาวิชาการนำเสนอ โดยในลำดับแรก หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) ขอให้บันทึกเพิ่มเติมว่า “ตามมติสภาวิชาการ ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566” เพื่อให้เหมือนกับหลักสูตรอื่น ๆ
สรุปผล/มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 6/2566 ( 8 กรกฎาคม 2566)
Facebook Comments Box