องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

องค์ประกอบของคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกอบด้วย

         ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งจำนวน 5 คน ประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจากสภามหาวิทยาลัยที่ไม่มีหน้าที่ประจำในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อีกจำนวน 4 คน  เป็นกรรมการ

         ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ แล้วเสนอสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยเป็นเลขานุการ หัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัยและหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

(ตามข้อ 14 ข้อ 16 และข้อ 17 ของระเบียบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยกฎบัตรการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงาน และการตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2563)

  1. จัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง (ครบหนึ่งปี)
  2. เสนอแผนปฏิบัติงานประจำปีของคณะกรรมการต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในเดือนกันยายนของทุกปี (แผนประจำปีงบประมาณ 2565)
  3. ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารงานของคณะผู้บริหาร รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบาย แผนกลยุทธ์ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัย
  4. สอบทานข้อบังคับ กฎ ระเบียบ และระบบวิธีปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยที่มีผลต่อการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชี การควบคุมและการตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อสังเกต ความเห็น และคำแนะนำต่อสภามหาวิทยาลัยในกรณีที่มีสิ่งที่ควรแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนา
  5. สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบงาน การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศของมหาวิทยาลัย ตามกรอบมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
  6. สอบทานผลการปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัย และให้ข้อเสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัยหรือฝ่ายบริหารในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลให้การปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์โดยสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการ
  7. สอบทานความถูกต้องและเหมาะสมของนโยบายการบัญชีที่ใช้ และสอบทานรายงานทางการเงินของมหาวิทยาลัยให้มีความถูกต้องตามที่ควร เชื่อถือได้ และเปิดเผยข้อมูลอย่างพอเพียงตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
  8. การพิจารณารายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือมีโอกาสเกิดการทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย
  9. การพิจารณารายงานผลการตรวจสอบบัญชีและงบการเงินของมหาวิทยาลัยจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย (สตง. จะส่งงบการเงินฯ ให้มหาวิทยาลัยหลังจากได้ตรวจเสร็จภายในเดือนเมษายน)
  10. ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นชอบเกี่ยวกับผลการตรวจสอบและเรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และอาจเสนอแนะให้สอบทานหรือตรวจสอบรายการใดที่เห็นว่าจำเป็น รวมถึงพิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อผู้สอบบัญชี และการกำหนดค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียมบริการที่เหมาะสมสำหรับผู้สอบบัญชี เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ (กำหนดวันประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในช่วงเวลาที่คณะกรรมการฯ เดินทางไปปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช)
  11. สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยตรวจสอบภายในให้มีความเป็นอิสระ เที่ยงตรง มีความยุติธรรม โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีการพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าทางอาชีพ
  12. ให้ข้อเสนอแนะการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย และประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีเพื่อพิจารณาความดีความชอบของหัวหน้าตรวจสอบภายใน* ต่อสภามหาวิทยาลัย ตามหลักการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของมหาวิทยาลัยโดยอนุโลม (* มหาวิทยาลัยจะนำเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2564 และการขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2565 ของหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน ประมาณเดือนกันยายน 2564)
  13. พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่ผู้ตรวจสอบภายในหรือพนักงานของหน่วยตรวจสอบภายในอุทธรณ์เนื่องจากเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีเพื่อพิจารณาความดีความชอบโดยหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน* (* กรณีพนักงานของหน่วยตรวจสอบภายในได้อุทธรณ์ผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2564 คณะกรรมการจะได้พิจารณาในเดือนตุลาคม 2564)
  14. ประเมินผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคของหน่วยตรวจสอบภายใน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและศักยภาพของผู้ตรวจสอบภายในต่อสภามหาวิทยาลัยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  15. กำกับดูแลงานตรวจสอบภายในให้มีความเป็นอิสระที่เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการตรวจสอบครอบคลุมลักษณะงานทุกด้าน สอดคล้องกับแผนการตรวจสอบที่มุ่งดูแลความเสี่ยงที่สำคัญ รวมทั้งรายงานการตรวจสอบมีคุณภาพ ประกอบด้วย
           15.1 พิจารณาและอนุมัติแผนงานตรวจสอบประจำปีของหน่วยตรวจสอบภายใน และหรือมอบหมายให้หน่วยตรวจสอบภายใน ตรวจสอบหรือปฏิบัติงานเรื่องหนึ่งเรื่องใดตามที่คณะกรรมการเห็นควร
           15.2 พิจารณาให้ความเห็นชอบในเบื้องต้นต่ออัตรากำลัง แผนพัฒนางานตรวจสอบภายใน และงบประมาณประจำปี โดยในการจัดทำงบประมาณให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่มหาวิทยาลัยกำหนดใช้กับทุกหน่วยงานก่อนเสนอมหาวิทยาลัยหากอธิการบดีมีความเห็นแตกต่างในประเด็นสำคัญ ให้อธิการบดีหารือร่วมกับคณะกรรมการเพื่อหาข้อยุติ หากหาข้อยุติไม่ได้ให้คณะกรรมการเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
            15.3 พิจารณารายงานผลการตรวจสอบที่หน่วยตรวจสอบภายในจัดทำขึ้น
  16. ประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการโดยตนเองตามวิธีการที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดเป็นประจำทุกปี และเสนอผลการประเมินต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
  17. ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และให้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยภายใน 90 วันหลังสิ้นปีงบประมาณ (คณะกรรมการได้จัดทำรายงานฯ ปีงบประมาณ 2563 แล้วในไตรมาสที่ 1)